เทคนิคค้นหาสไตล์ของวงจาก Commentator “แกงส้ม ธนทัต”
เทคนิคค้นหาสไตล์ของวงจาก Commentator “แกงส้ม ธนทัต”
HOTWAVE MUSIC AWARDS กลับมาแล้ว สำหรับวงไหนที่กำลังตัดสินใจเลือกสไตล์ดนตรีที่จะทำส่งเข้าประกวด “แกงส้ม ธนทัต” Commentator และผู้อยู่เบื้องหลังศิลปินในค่าย RISER MUSIC มีคำแนะนำ
จุดเริ่มต้นทางดนตรี
“จริง ๆ ผมเป็นศิลปินเดี่ยวเนอะ แต่จุดเริ่มต้นทางดนตรีของหลาย ๆ คน ก็คือการเล่นดนตรีกับเพื่อน ๆ จริง ๆ ผมเริ่มเล่นดนตรีตั้งแต่ป.5 คือเริ่มมีวง แล้วมาเล่นจริงจังอีกทีคือตอนม.ต้น ตอนนั้นเรายังอินกับการได้เล่นดนตรีกับเพื่อน ๆ เยอะ ๆ”
รู้ได้ยังไงว่าตัวเองชอบดนตรี
“วิธีการเช็คว่าตัวเองชอบอะไร ให้ใช้คำว่า เราอยู่กับสิ่งนี้ได้นาน จริง ๆ เริ่มรู้มาตั้งแต่เด็กแล้วว่าเราชอบ ตอนเด็ก ๆ ครึ่งนึงเราเล่นเกม แต่อีกครึ่งนึงเราอยู่กับดนตรี มันกลายเป็นว่าเราก็เลยเริ่มรู้แล้วว่าสิ่งนี้แหละ ที่เราใช้ชีวิตอยู่กับมันได้แทบจะ 100% เลย ถ้าทำสิ่งนี้ทุกวันเป็นเวลานาน แล้วเรายังรู้สึกอยาก สมมุติเราทำอย่างอื่นแล้วรู้สึกอยากกลับไปทำอันเนี้ย ทั้ง ๆ ที่มันเป็นสิ่งที่อยู่กับเรามานานมากแล้วนะ อันนี้มันจะตอบเราได้ว่าเราชอบทางนี้จริง ๆ นี่แหละคือสิ่งที่เราจะอยู่กับมันได้ทั้งชีวิต”
อยากลงแข่งขันควรเริ่มจากอะไร
“ถ้าเราไม่เริ่มที่ก้าวแรก คือก้าวออกมาประกวด มันก็จบละ ต่อให้คุณเก่งแค่ไหน หรือคุณจะรักในดนตรีแค่ไหน แต่ว่าการเล่นดนตรีเนี่ย ถ้าคุณแฮปปี้กับการเล่นอยู่บ้านคนเดียว หลับตาเล่นดนตรี แค่นั้นแล้วคุณแฮปปี้แล้ว เป็น hobby ของคุณ อันนั้นเราไม่ว่ากัน แต่ว่าถ้าคุณอยากให้คนมองเห็นคุณ แต่คุณไม่เริ่มที่การกล้าออกมาจากเซฟโซน ถ้าเราไม่กล้าเริ่มที่จุดแรก มันไม่มีทางหรอกที่สปอตไลท์จะมาลงเรา เราต้องวิ่งเข้าหาสปอตไลท์ด้วย เพื่อให้แสงมันส่องมาที่คุณให้ได้ ถ้าคุณเริ่มก้าวที่หนึ่งแล้ว ก้าวต่อ ๆ ไปคุณแค่เตรียมตัวให้ดีเถอะ สนุกกับมัน เอ็นจอยกับมัน มีวินัยกับมัน มีวินัยแบบมีความสุขด้วยนะ ถ้าคุณมีวินัยแล้วมันเครียด คนดูหรือแม้แต่ตัวเองตอนโชว์ ก็ไม่มีทางมีความสุขได้หรอก ผมว่ามันต้องบาลานซ์ให้ดีระหว่างมีวินัย เรื่องของการซ้อม กับอีกอย่างนึงคือความสุข ความสนุกที่เราเริ่มทำมันตั้งแต่วันแรก มันต้องยังอยู่กับเราตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นตอนประกวด ตอนซ้อม ตอนอะไรก็ตาม นี่คือคีย์สำคัญสำหรับการเตรียมตัวออกมาประกวด และเตรียมตัวที่จะอยู่ในวงการเพลงวงการดนตรีอย่างมีความสุขต่อไปด้วย”
แนะนำน้อง ๆ เกี่ยวกับการทำเพลงที่จะเอาไปใช้แข่งขันหน่อย
“หนึ่งคือ DNA ถ้าพูดในมุมของโปรดิวเซอร์ก็ต้องวิเคราะห์ก่อนว่า ศิลปินที่ร้องเพลงนี้เขาเป็นยังไงบ้าง เขาอยากพรีเซนต์อะไร ถ้าเปรียบเทียบกับวงน้อง ๆ ก็ต้องไปคุยกันก่อนว่า DNA ของวงน้อง ๆ คืออะไร สไตล์ลิ่งของวงน้องคืออะไร ที่เราแฮปปี้จริง ๆ คืออะไร คุยกันให้เคลียร์ก่อน หากันให้เจอ สองคือ คนดูอยากเห็นอะไร เพราะบางทีเราไม่ได้ทำดนตรีตอบสนองเราคนเดียว งานศิลปะมันคือการสื่อสารสองทาง เราก็ต้องแคร์คนดูด้วย ไม่ใช่แคร์แต่ตัวเราเอง”
วงแบบไหนที่จะเข้าตา
“เรื่องของสไตล์ลิ่งดนตรีก็คือหนึ่งเรื่อง แต่อีกอย่างนึง ผมอยากเห็นวงที่มาพร้อมเอเนอร์จี้ และความเชื่อในการสื่อสารในด้านการเพอร์ฟอร์มอย่างแท้จริง จริงใจกับทุกเนื้อเรื่อง ทุกการตีกลอง ทุกบีท ทุกโน้ต ผมว่ามันหายาก และสิ่งนี้แหละ มันเป็นตัววัดกันระหว่างวงดนตรีที่เราเล่นกันสนุก ๆ และวงดนตรีที่กำลังจะกลายเป็นศิลปิน ผมอยากเจอวงที่มาแล้วแบบ โห ทำไมวงนี้บาลานซ์ดีจัง คุณเห็นคนฟัง คุณเห็นคนดู ในขณะเดียวกัน คุณก็จริงใจกับการสื่อสารสิ่งเหล่านั้นออกมา ผมอยากเจอวงที่บาลานซ์สิ่งเหล่านี้ได้ดีมาก ๆ อย่างเป็นธรรมชาติ”
ควรเตรียมตัวอย่างไรดี
“ซ้อมให้เต็มที่ งัดกันออกมาให้ทุกเม็ด เอาที่เราทำได้ แล้วก็จงมั่นใจในสิ่งที่ตัวเองมี อย่าเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นเยอะ เสน่ห์มันไม่ได้ออกมาจากความเก่งอย่างเดียว เสน่ห์มันออกมาจากความพอดีครับ ถ้าน้องประเมินกันแล้วว่าวงน้อง สกิลเต็ม 10 น้องมีอยู่ 7 น้องไม่ต้องไปดูวงอื่นเลย แต่น้องโฟกัส 7 ของน้องให้ดี มั่นใจใน 7 ของตัวเอง แล้วโชว์ออกมาให้พี่ดู”
มีอะไรฝากถึงน้อง ๆ ไหม
“ฝากถึงน้อง ๆ ทุกคนที่มีความฝัน สนุกกับมันให้เต็มที่ อยากให้เอ็นจอยที่สุดเท่าที่จะทำได้ ความเครียดมันมาออโต้ แต่อย่าไปโฟกัสที่ความเครียด โฟกัสกับความสนุก แล้วไม่ต้องกลัวว่ามาจะดีมั้ย จะได้มั้ย ผลลัพธ์เป็นกำไรชีวิตครับน้อง แค่น้องก้าวมาประกวด ได้เล่นดนตรีกับเพื่อน ได้มีโมเมนต์ดี ๆ กับเพื่อน แค่นี้มันคือที่สุดของ moment of life ณ วันนี้ของน้องแล้ว”